2. ไฟลัมไนดาเรีย
เป็นกลุ่มที่มีเนื้อเยื่อที่แท้จริงเป็นกลุ่มที่มีสมมาตรตามรัศมี
เคยมีชื่อว่า ไฟลัมซีเลนเตอราตา (Phylum Coelenterata) คือกลุ่มของสิ่งมีชีวิตที่มี รูปร่างเป็นทรงกระบอก มีโพรงในลำตัว (ลำตัวกลวง) และมีเข็มพิษ เช่น แมงกะพรุน ดอกไม้ทะเล ปะการัง กัลปังหา และไฮดรา โดยมีเนื้อเยื่อ 2 ชั้น คือ เนื้อเยื่อบุผิว (Epithelia) และเนื้อเยื่อบุภายในโพรงลำตัว (Gastrodermis) ซึ่งระหว่างเนื้อเยื่อทั้งสองชั้นจะมีสารคล้ายวุ้น (Mesoglea) แทรกอยู่ นอกจากนี้ยังมีระบบประสาทแบบร่างแห (Nerve Net)
สิ่งมีชีวิตประเภทนี้จะไม่มีระบบอวัยวะที่ชัดเจน และมีช่องว่างลำตัว (Gastrovascular cavity) ที่เปรียบเสมือนปาก และทวารหนัก นอกจากนี้ยังมีหนวด (Tentacle) อยู่บริเวณรอบๆ ปาก เพื่อใช้ในการจับเหยื่อ และมีเซลล์สำหรับต่อยที่หนวด (Cnidocyte) และเข็มสำหรับต่อย (Nematocyst) สัตว์ประเภทนี้สามารถสืบพันธุ์ได้โดยไม่อาศัยเพศ เนื่องจากมีสองเพศในตัวเดียว
ลักษณะสำคัญของสัตว์ในไฟลัมไนดาเรีย
1. มีสมมาตรแบบรัศมี (Radial Symmetry)
2. มีเนื้อเยื่อ 2 ชั้น คือ เนื้อเยื่อชั้นนอก ทำหน้าที่เป็นผิวลำตัวเรียกว่า เอพิเดอร์มิส (Epidermis) และเนื้อเยื่อชั้นใน ทำหน้าที่เป็นเยื่อบุทางเดินอาหาร เรียกว่า แกสโทรเดอร์มิส (Gastrodermis) ระหว่างเนื้อเยื่อชั้นนอก และเนื้อเยื่อชั้นในมีสารซึ่งมีลักษณะคล้ายวุ้นแทรกอยู่ เรียกว่า ชั้นมีโซเกลีย (Mesoglea)
3. ทางเดินอาหารเป็นแบบถุงไม่สมบูรณ์ มีปากแต่ไม่มีทวารหนัก ช่องทางเดินอาหารนี้อยู่กลางลำตัว ทำหน้าที่เป็นทั้งทางเดินอาหาร และระบบหมุนเวียน เรียกว่า แกสโทรวาสคูลาร์ คาวิตี (Gastrovascular Carvity)
4. มีเข็มพิษ หรือเนมาโทซีสต์ (Nematocyst) ใช้ในการป้องกัน และฆ่าเหยื่อ เนมาโทซีสต์มักจะอยู่กันหนาแน่นที่บริเวณหนวด (Tentacle) ซึ่งอยู่รอบปากมากกว่าบริเวณอื่นๆ ทำให้การหาอาหาร และการต่อสู้กับศัตรูมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
5. ไม่มีระบบหายใจ ระบบหมุนเวียนโลหิต ระบบขับถ่ายโดยเฉพาะ แต่โดยทั่วไปอาศัยการแพร่ของก๊าซ และของเสียต่างๆ ระหว่างน้ำที่อยู่รอบๆ ตัวกับผิวลำตัวโดยตรง หรือมีเซลล์ชนิดพิเศษ เช่น เซลล์ที่ทำหน้าที่ในการย่อยอาหาร (Nutritive Cell) ช่วยทำหน้าที่ย่อย และดูดซึมสามอาหารเพื่อส่งไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายต่อไป
6. ระบบประสาทเป็นแบบข่ายใยประสาท (Nerve Net) แผ่กระจายทั่วตัว และหนาแน่นบริเวณหนวด ดังนั้นการนำกระแสประสาทจึงเป็นไปในลักษณะทุกทิศทุกทาง ทำให้กระแสประสาทเคลื่อนที่ไปได้ช้า และมีทิศทางไม่แน่นอนซึ่งแตกต่างจากสัตว์ชั้นสูงอื่นๆ
7. สัตว์กลุ่มนี้มีรูปร่างเป็น 2 แบบ คือ รูปร่างแบบต้นไม้เรียกว่า โพลิป (Polyp) เช่น ไฮดรา ปะการังดอกไม้ทะเล และรูปร่างคล้ายร่ม หรือกระดิ่งคว่ำ เรียกว่า เมดูซา(Medusa) ได้แก่ แมงกระพรุน
8. การสืบพันธุ์มีทั้งแบบอาศัยเพศ และแบบไม่อาศัยเพศแบบอาศัยเพศ โดยการสร้างเซลล์สืบพันธุ์มาผสมกัน ส่วนการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศโดยการแตกหน่อ หรือการแบ่งตัวซีเลนเทอเรตหลายชนิด เช่น แมงกะพรุนโอบีเลียมีการสืบพันธุ์แบบสลับ (Alternative of Generation) โดยมีการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศด้วยการแบ่งตัว หรือแตกหน่อกับการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศด้วยการสร้างเซลล์สืบพันธุ์มาผสมกัน
ความสำคัญของสัตว์ในกลุ่มนี้
สัตว์ในกลุ่มนี้จัดว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปะการัง เพราะปะการังสามารถสร้างโครงร่างภายนอกซึ่งเป็นสารจำพวกหินปูนได้ และโครงหินปูนเหล่านี้รวมกันมากๆ กลายเป็นแนวหินปะการัง ซึ่งให้ความสวยงาม เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นที่ท่องเที่ยว และมีนักท่องเที่ยวมาชมปีละมากๆ เช่น หินปะการังที่เกาะล้าน นอกจากนี้แนวหินปะการังยังมีความสำคัญต่อระบบนิเวศอย่างมาก เพราะแนวหินปะการังเป็นที่อยู่อาศัยที่ หลบภัย ที่หาอาหาร ที่ผสมพันธุ์ และการเจริญของตัวอ่อนของสัตว์ทะเลหลายชนิดก็อาศัยแนวหินปะการังเป็นแหล่งที่อาศัย และที่เจริญเติบโต ดังนั้นแนวหินปะการังจึงมีสัตว์ต่างๆ มาอาศัยอยู่อย่างชุกชุมซึ่งลักษณะอันนี้จัดเป็นระบบนิเวศที่สำคัญ และเป็นสมดุลธรรมชาติอย่างหนึ่ง แต่ในปัจจุบันเป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างมากเพราะแนวหินปะการังถูกทำลาย
สัตว์ในไฟลัมนี้แบ่งออกเป็น 3 คลาส ได้แก่
1.Hydrozoa ส่วนใหญ่มีรูปร่างเป็น Polyp บางช่วงเป็น Medusa อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม (Colony) เช่น โอบีเลีย แมงกระพรุนน้ำจืด แมงกระพรุนลอย และไฮดรา
2.Scyphozoa ส่วนใหญ่มีรูปร่างเป็น Medusa (รูปร่างคล้ายร่ม ว่ายน้ำได้อิสระ) เช่น แมงกระพรุนไฟ แมงกระพรุนจาน
3.Anthozoa มีรูปร่างเป็นแบบ Polyp เท่านั้น อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม มีการสร้างสารหินปูนเป็นเปลือกหุ้ม เช่น พวกปะการัง หรือกัลปังหา